สอนลูกเข้าถึง "ศีล 5" อย่างไรให้ได้ผล
หาก พูดถึงศีล 5 ถือเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตของคนในสังคม เพราะเป็นตัวช่วยให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ซึ่งเชื่อว่าทุกคนคงเคยผ่านการท่องจำในเรื่องนี้กันมาบ้างแล้วตอนสมัยเรียน ชั้นประถม เพราะได้ถูกบรรจุไว้ในรายวิชาพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นรายวิชาบังคับ
แต่ ในหลัก 5 ข้อที่ควรงดเว้นนี้ เท่าที่ผ่านมา การจะสอนเด็กให้มีศีล 5 นั้น ส่วนมากจะสอนให้เด็กรู้แค่ว่า ถ้าทำแบบนั้นแล้วจะผิดศีลข้อไหน โดยไม่มีวิธีอื่นที่แยบยล เด็กจึงไม่สามารถเข้าถึงศีล 5 ได้ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะเด็กเล็ก ในวันนี้ ทีมงาน Life and Family มีหลักการสอนลูกให้เข้าถึงศีล 5 ได้อย่างแยบยลจาก "เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป" กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และนักเขียนนิทานขวัญใจเด็กๆ มาฝากกัน
ในเรื่องนี้ เรืองศักดิ์ หรือน้าตุ๊บปอง กล่าว ภายหลังงานเปิดตัวหนังสือชุด นิทานศีลห้าคำกลอน เมื่อวานนี้ (18 ก.ค.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า การนำศีล 5 มาสอนเด็กให้แยบยลนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเข้าใจ ย่อมสามารถทำได้ไม่ยาก
เริ่มต้นจาก ศีลข้อที่ 1 เว้นจากการฆ่าสัตว์ พ่อ แม่ต้องสอน และเป็นแบบอย่างให้ลูกรู้จักการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสงบ เย็น และเป็นสุข ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ต้องรัก และเลี้ยงดูสัตว์ ขณะเดียวกัน ต้องระมัดระวัง และไม่เข้าใกล้สัตว์ที่มีพิษด้วย
ศีลข้อที่ 2 เว้นจากการลักทรัพย์ เด็ก ต้องเรียนรู้ว่า จิตที่คิดจะให้นั้นเบา จิตที่คิดจะเอานั้นหนัก จึงต้องรู้จักแบ่งปัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่นำของของผู้อื่นมาเป็นของตน ตรงนี้พ่อแม่ต้องบอกให้เด็กเข้าใจว่า ถ้าต้องการสิ่งใดที่ไม่ใช่ของตน ต้องขออนุญาตเจ้าของก่อนเสมอ
ศีลข้อที่ 3 เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็น เรื่องยาก และละเอียดอ่อนมากที่จะสอนเด็ก ดังนั้น ศีลข้อนี้สำหรับเด็ก พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างรักใคร่ปรองดองกัน ไม่แย่งชิงของรักของใคร ไม่ล่วงละเมิดผู้อื่น ไม่รังแกเพื่อน และไม่ทำให้เพื่อนต้องอับอาย
"ศีล ข้อนี้ พ่อแม่ต้องรู้จักประยุกต์ ถ้าจะสอนลูกไม่ให้แย่งของรักของคนอื่น พ่อแม่ต้องทำดีกับลูก หรือคู่ชีวิตก่อน เพื่อให้ลูกสัมผัสถึงความรักว่า พ่อรักแม่ เพราะแม่ทำดีกับพ่อ หรือแม่รักพ่อเพราะพ่อทำดีกับแม่ ฉะนั้น ความรักต่างเพศ มีความรักที่ไม่ใช่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่ยังมีความเกื้อกูลที่กว้างออกไปกว่าความรักเชิงชู้สาว พ่อแม่ต้องตีความให้ลูกเห็น และเข้าใจว่า ชีวิตของคนเรา ความรักเป็นเรื่องสวยงาม ชีวิตรอดเพราะความรัก แล้วเขาจะรู้จักรัก และไม่ไปเบียดเบียนความรัก ความสัมพันธ์ของคนอื่น"
ศีลข้อที่ 4 เว้นจากการพูดเท็จ ใน ข้อนี้ พ่อแม่ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ว่า ความจริงคือหนทางที่จะนำชีวิตสู่คุณธรรม จึงต้องรู้ถึงผลดีของการพูดความจริง ไม่โกหกโป้ปดมดเท็จ พูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพ น้ำเสียงรื่นหู ไพเราะ ใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช้อารมณ์ ซึ่งพ่อแม่ต้องทำเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น เริ่มจากพูดดี พูดเพราะกับลูก ไม่พูดให้ร้าย ส่อเสียด หรือนินทาคนอื่น ซึ่งพ่อแม่หลายคนมักชอบลักลั่น บอกไม่ให้ลูกโกหก แต่ตัวเองกลับบอกลูกว่า "ลูกจ๋า ถ้าป้าที่ชื่อ...โทรมาบอกว่าแม่ไม่อยู่นะจ้ะ เพราะเขาจะโทรมาทวงเงินแม่"
"ถ้า พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นคนพูดจริง หรือพูดไม่ให้คนอื่นเสียหาย พ่อแม่ต้องเป็นคนแบบนั้นเหมือนกัน ถ้าเกิดเป็นพ่อแม่ที่พูด และชอบดูหมิ่นดูแคลนคนอื่น ลูกก็จะพูดดูหมิ่นดูแคลนคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งพ่อแม่ต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิต เพราะการอยู่กับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก การดำเนินชีวิตต้องละเอียดมาก"
และ ข้อสุดท้าย คือ ศีลข้อที่ 5 เว้นจากการดื่มของมึนเมา ในข้อนี้ พ่อแม่ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ว่า โลกภายนอกมีสิ่งที่จะมอมให้เมา แต่โลกในใจต้องตื่น และเบิกบาน แล้วเลือกสรรแต่สิ่งที่ดี เช่น ไม่ดื่มน้ำอัดลม และน้ำสีที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เลือกดื่มแต่น้ำสะอาด ดื่มนม หรือดื่มน้ำผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ปลูกฝังให้เด็กแยกแยะสิ่งดี และสิ่งไม่ดีเป็นแล้ว เด็กจะรู้จักคิด และเลือกสรรน้ำที่เป็นประโยชน์ เมื่อโตขึ้น เด็กก็จะรู้ว่า สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีแต่จะทำลายชีวิต
อย่างไรก็ดี นักเล่า และนักเขียนนิทานขวัญใจเด็กๆ รายนี้ ฝากไปถึงพ่อแม่ทุกบ้านว่า การ จะเลี้ยงลูกให้รอดท่ามกลางสังคมที่ซับซ้อน พ่อแม่ต้องมีศีล มีธรรม เป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ลูก ทั้งในเรื่องการพูด ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ โดยเริ่มได้จากคนใกล้ตัวก่อน นั่นก็คือ คู่ชีวิต จากนั้นจึงตามมาด้วยลูก ดังนั้นเมื่อลูกเห็นว่า พ่อแม่คิดดี พูดดี ปฏิบัติตัวดี พอถึงวัยที่จะต้องออกไปเผชิญโลกภายนอก ลูกก็จะคิดดี พูดดี และปฏิบัติดีกับคนอื่นเช่นกัน
"สังคม ไทยเราบิดเบี้ยวมาก เพราะว่าผู้ใหญ่ไม่ค่อยมีศีล มีธรรม ธรรมะคือธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติดี คิดดี พูดดี เริ่มง่ายๆ จากคนใกล้ตัว เพราะคนเราส่วนใหญ่มักคิดไปว่า เราจะพูดดีกับคนอื่นอย่างไรเพื่อให้เขารักเรา หรือทำดีกับคนอื่นอย่างไรให้เขารักเรา แต่หลงลืมไปสนิทว่า การเริ่มต้นที่จะให้คนอื่นรักเรา ต้องรู้จักรักตัวเองให้เป็นเสียก่อน เริ่มจากการพูดดีๆ กับคนใกล้ตัว เพราะคนเหล่านี้คือคนที่รักเราจริงๆ" เรืองศักดิ์ฝากถึงพ่อแม่
ปฏิเสธ ไม่ได้ว่า "งานเลี้ยงลูก" ถือเป็นงานละเอียด ที่พ่อแม่ต้องระวังทั้งในเรื่องของพฤติกรรม คำพูด และการแสดงออก โดยเฉพาะลูกเล็ก พ่อแม่เปรียบเสมือนกระจกบานใหญ่ของลูก จึงอาจกล่าวได้ว่า ถ้าจะให้ลูกเป็นคนอย่างไร ขึ้นอยู่กับตัวแบบของพ่อแม่ว่าจะทำตัวอย่างแบบไหนให้ลูกเห็น
บทความจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ / life & family ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 |