Thai | English
  สุขภาพ
หยุดการทำร้ายลูก.. ถึงเป็นพ่อแม่ แต่ไม่ใช่เจ้าชีวิต
หยุดการทำร้ายลูก..
ถึงเป็นพ่อแม่ แต่ไม่ใช่เจ้าชีวิต


ข่าวคราวเรื่องแม่ทำร้ายลูก พ่อทำร้ายลูก มีให้พบเห็นบนหน้าสื่อบ่อยมาก ยังไม่นับรวมที่ไม่เป็นข่าว หรือถูกอัดคลิปก็มีอีกจำนวนไม่น้อย
 
       ล่าสุด กรณีของเเม่ที่ทำร้ายลูกสาววัย 5 ขวบ ด้วยการกระชากผม ใช้มีดจี้คอ และผลักจนล้มก่อนใช้ไม้กวาดตีซ้ำ จนมีเพื่อนบ้านถ่ายคลิป และกลายเป็นข่าวคราวที่สร้างความสะเทือนใจสังคมอีกครั้ง ก่อนจะเกิดการตั้งคำถามว่า คนเป็นแม่ทำไมทำร้ายลูกได้ถึงขนาดนี้ !
       ประเด็นเรื่องพ่อแม่ทำร้ายลูก เป็นปัญหาสังคมที่มีมาโดยตลอด และนับวันจะยิ่งมีแนวโน้มมากขึ้น และถูกเปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้นผ่านสื่อออนไลน์
       สาเหตุหลักที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ ทัศนคติผิดๆ ของคนเป็นพ่อแม่ที่มีต่อลูก คิดว่าเป็นลูก แล้วจะทำอย่างไรก็ได้เป็นเรื่องที่มีอยู่จริง อีกทั้งยังมีอีกหลายสาเหตุและกลายเป็นที่มาของปัญหาในการทำร้ายลูก ลองมาสำรวจกันดูว่ามีอะไรบ้าง และคุณเป็นพ่อแม่ที่เข้าข่ายนี้ด้วยหรือไม่ !
       หนึ่ง - คิดว่าเป็นเจ้าของลูก
       ความคิดนี้อันตรายมาก เพราะพ่อแม่ที่คิดว่ามีลูกแล้ว ลูกเป็นของของเรา หรือเราเป็นเจ้าชีวิตเขา ไม่น่าเชื่อว่าคนที่คิดเยี่ยงนี้มีอยู่จริงและมีอยู่จำนวนไม่น้อยด้วย เรียกว่าลูกจะทำอะไรจะต้องอยู่ในสายตาตลอด และการลงโทษลูกก็เพราะพ่อแม่รักลูก กลุ่มนี้จะไม่รู้สึกว่าการทำโทษลูกเป็นสิ่งที่ไม่ควรหรือผิด
       สอง - เชื่อว่าทำโทษจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้
       พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าการทำโทษลูก คือ การทำให้หลาบจำ และการที่จะทำให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้รับการแก้ไขก็ต้องใช้วิธีทำให้เข็ดหรือหลาบจำ จะได้ไม่ทำอีก โดยหารู้ไม่ว่ายิ่งเป็นการทำร้ายลูกเข้าไปอีก
       สาม - ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
       กรณีนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะพ่อแม่บางคนอารมณ์ร้อน ใจร้อน และยามที่อารมณ์ร้อนก็มักจะบันดาลโทสะ เริ่มตั้งแต่ขึ้นเสียง ใช้เสียงดัง ขว้างปาข้าวของ หรือทุบตีคนใกล้ชิด และพออารมณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ก็มักจะคิดได้ และก็รู้สึกผิด เพียงแต่จะมีโอกาสได้แก้ตัวได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบางครั้งการควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ก็ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมมาแล้ว
       สี่ - ระบายอารมณ์
       ข้อนี้สืบเนื่องจากข้อสาม เพียงแต่สภาพอารมณ์เสียปกติก็สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่อาจเกิดจากความทุกข์ใจเฉพาะเรื่อง เช่น ทะเลาะกับเจ้านาย มีปัญหากับเพื่อน มีปากเสียงกันระหว่างสามีภรรยา ทำให้บางทีก็ไปลงที่ลูก ไม่ว่าจะด้วยความรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว แต่ก็ได้ทำร้ายลูกไปเสียแล้ว
       ห้า - ติดสารเสพติด
       กรณีนี้น่าสงสารเด็กมาก เพราะสารเสพติดทำให้คนเราเปลี่ยนไป จากพ่อแม่ที่ใจดี สามารถเปลี่ยนไปเป็นคนละคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ และสารเสพติดก็อาจนำไปสู่ภัยอื่นๆ ในครอบครัวอีกด้วย
       หก - เมาสุรา
       ข้อนี้ก็ไม่แตกต่างจากข้อห้า เนื่องจากน้ำสุราทำให้คนเราเปลี่ยนนิสัยเป็นคนละคนทีเดียว มีพ่อแม่จำนวนมากที่ปกติเป็นคนใจดีรักลูกมาก แต่พอเมาเหล้ากลายเป็นคนละคน เมาทำร้ายลูกเมีย หรือกระทั่งลงไม้ลงมือ พอหายเมาก็กลับมาเป็นปกติ บางครอบครัวก็พยายามทนรับสภาพเพราะตอนไม่เมาเป็นสามีหรือพ่อที่น่ารักมาก
       คำถามก็คือแล้วทำไมต้องยอมเป็นทาสน้ำเมาด้วยล่ะ สิ่งที่ควรทำก็คือไม่ควรไปยุ่งกับน้ำเปลี่ยนนิสัยต่างหาก
       เจ็ด - ถูกกระทำความรุนแรงมาตั้งแต่เด็ก
       กรณีนี้น่าเห็นใจไม่น้อย เพราะมีพ่อแม่จำนวนมากที่ถูกกระทำมาจากพ่อแม่ของตัวเองมาตลอด พอถึงวันที่ตัวเองเป็นพ่อแม่บ้าง ก็ทำให้ใช้วิธีการจัดการปัญหาด้วยความรุนแรง โดยหารู้ไม่ว่าก็เท่ากับเป็นการสร้างพฤติกรรมที่รุนแรงต่อไปจนถึงรุ่นลูก
       ข้อสุดท้ายนี้สำคัญ และน่าเห็นใจมาก เพราะการอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรง เด็กจะซึมซับเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เด็กจะกระทำความรุนแรงต่อเพื่อน และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกระทำรุนแรงต่อครอบครัวตนเองและผู้อื่น
       ความจริงเรื่องการทำร้ายลูก ไม่ใช่เป็นเรื่องทางร่างกายอย่างเดียว แต่การทำร้ายทางด้านจิตใจก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย เพราะพ่อแม่ที่ไม่ตีลูก กลับหันมาใช้วิธีดุด่า ต่อว่า ด่าทอ หรือตวาดเสียงดังใส่ลูกแทน กลายเป็นว่าเด็กไม่เจ็บตัว แต่กลายเป็นเจ็บใจแทน และแผลที่เจ็บใจนี่แหละที่มักฝังอยู่ในความทรงจำ ทำให้เด็กมักเครียด กลายเป็นเด็กเก็บกด หรือกดดัน หรือต่อต้านด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
       เพราะฉะนั้น วิธีที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุด ก็คือ ก่อนที่จะลงโทษ พ่อแม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ภายในบ้านก่อน การกำหนดกฎเกณฑ์เป็นการสอนให้ลูกได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ รวมไปถึงวินัย และการอยู่ร่วมกันในครอบครัว เป็นการสอนให้ลูกรู้ว่าเมื่อมีกฎเกณฑ์ภายในครอบครัวก็ต้องปฏิบัติตาม และต้องใช้เหตุผลในการพูดคุยด้วย
       และถึงที่สุด สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ ก็คือ เรื่องการทำร้ายลูกคือสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งน่าตกใจที่มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ถูกกระทำหรือผู้ที่พบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการ ซึ่งสามารถทำได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งด้วยคำพูด ยื่นเป็นหนังสือ โทรศัพท์ แจ้งทางอีเมล หรือวิธีการอื่นๆ ซึ่งผู้แจ้งโดยสุจริตจะได้รับการคุ้มครองและไม่ต้องรับความผิดใดๆ
       หรือเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พบเห็น หรือได้ทราบการกระทำรุนแรงในครอบครัว พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุได้ทันที เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการกระทำ หากผู้ถูกกระทำรุนแรงต้องการจะดำเนินคดี ก็ให้จัดให้ผู้นั้นร้องทุกข์ตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้นั้นไม่สามารถร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง พนักงานเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ร้องทุกข์แทนได้ และในการสอบสวนผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำรุนแรงร้องขอร่วมอยู่ด้วยเพื่อให้คำแนะนำปรึกษา
       นี่ยังไม่นับรวมอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่มีเนื้อหา 4 ด้าน ได้แก่ (1) สิทธิในการอยู่รอด (2) สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (3) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และ (4) สิทธิในการมีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทย ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อปี 2535
       แต่สิ่งสำคัญที่สุด โปรดระลึกไว้ด้วยว่า ถึงเราจะเป็นพ่อแม่ แต่ก็ไม่ใช่เจ้าชีวิตลูก


ขอบคุณที่มาบทความ :
สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน / www.mgronline.com
 

[ +zoom ]
สุขภาพ
- ประโยชน์และวิธีการล้างจมูก
- ดูดนิ้ว เลิกได้ไหม
- โกนผมลูก ช่วยให้ลูกผมดก ได้จริงหรือ
- ภาวะความเครียดของทารกระหว่างคลอด
- เด็กถ่ายเหลวเพราะยืดตัว จริงไหม?
- คนไทยเชื่อผิดๆ “คนท้อง” ห้ามออกกำลังกาย ชี้ ออกกำลังกายขณะท้องช่วยแข็งแรงทั้งแม่ลูก
- 17 วิธีสอนลูกให้เชื่อมั่นในตนเอง
- หยุดการทำร้ายลูก.. ถึงเป็นพ่อแม่ แต่ไม่ใช่เจ้าชีวิต
- “โภชนาการช่วงแรกของชีวิต”
- เตือนพ่อแม่เลือกใช้พลาสติกผิดวิธี ลูกเสี่ยงเบี่ยงเบนทางเพศ!!!
ดูทั้งหมด

  สินค้าสำหรับเด็ก   สาระและความรู้   เกี่ยวกับเรา   ติดต่อเรา
  •   บริษัท อะธีน่า เมทีส จำกัด
  •   บริษัท เอ เอ็ม ซี (ไทยแลนด์) จำกัด
  •   50/41 หมู่ 13 ถนนพุทธมณฑลสาย 5
  •   ไร่ขิง สามพราน
  •   นครปฐม 73210
  •   Tel: +66 (0)2 019 9887
  •   Fax: +66 (0)2 019 9878
  •   E-mail: info@happybabito.com
HappyBabito Copyright 2010 Athena Metis Co., Ltd. All Rights Reserved. Babito is a trademark owned by Athena Metis Co., Ltd.
Engine by MAKEWEBEASY